วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2554

การเขียนข่าวเบื้องต้น

วันที่ 25 กันยายน 2554

                ข่าวสารในปัจจุบันคงจะไม่มีใครปฏิเสธว่าไม่มีความสำคัญหรือเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นที่จะต้องรับรู้ แต่ในปัจจุบันนั้นข่าวสารมีความสำคัญมากต่อประชาชน ทั้งในด้านการดำรงชีวิต การศึกษา การปกครองบ้านเมือง ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ประชาชนควรรับรู้ ดังนั้นกระดาษข่าวหรือหนังสือพิมพ์จึงเป็นสื่อกลางในการรับรู้ของประชาชน ข่าวที่ถูกตีพิมพ์ลงไปนั้น ไม่ใช่เพียงแค่จะเขียนข่าวที่พบเห็นหรือเหตุการณ์ต่างๆลงไปได้เลย แต่ผู้เขียนข่าวจำเป็นที่จะต้องรู้จักวิธีการเขียนข่าวอย่างถูกต้อง เพื่อให้ได้มาซึ่งข่าวสารที่ครบถ้วน สั้น กระชับและง่ายต่อการเข้าใจของประชาชนด้วย
การเขียนข่าวเป็นทั้งศาสตร์ทั้งศิลป์ ต้องมีเทคนิคในการเขียน เพื่อสร้างความเข้าใจและความสนใจแก่ประชาชน ก่อนที่เราจะเขียนข่าวหนึ่งข่าวใดลงไป เราต้องมีการเรียนรู้ รู้จักข่าวประเภทนั้นๆก่อน ซึ่งมันจะช่วยให้เราเขียนข่าวได้ง่ายขึ้น

                ข่าว หมายถึง เรื่องราว เหตุการณ์หรือเรื่องที่ประชาชนสนใจ อาจเป็นข้อเท็จจริงหรือข้อคิดเห็นที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มาจากแหล่งที่มาต่างๆ แล้วถูกนำเสนอในรูปแบบอื่นๆ เช่น การเขียน การพูด เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้และติดตาม

                องค์ประกอบของข่าว
1. ใคร (Who) บุคคลที่เกี่ยวข้องกับข่าว
2. ทำอะไร (What) เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การกระทำที่เกิดขึ้น
3. ที่ไหน (Where) เหตุการณ์หรือการกระทำนั้นๆเกิดขึ้นที่ไหน
4. เมื่อไร (When) เหตุการณ์หรือการกระทำนั้นๆเกิดขึ้นเวลาใด
5. ทำไมและอย่างไร (Why and How) ทำไมเหตุการณ์จึงเกิดขึ้น เกิดขึ้นได้อย่างไร

                รูปแบบการเขียนข่าว
รูปแบบการเขียนข่าว มีทั้งหมด 3 รูปแบบ ดังนี้
1. แบบปิรามิดหัวกลับ การนำเสนอข่าวโดยการลำดับประเด็นสำคัญจากมากไปหาน้อย นำสิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญขึ้นมาก่อน ส่วนรายละเอียดเรียงไว้ข้างหลังตามลำดับความสำคัญ ประกอบด้วย ข่าวพาดหัว วรรคนำ ส่วนเชื่อม และส่วนของเนื้อเรื่อง เป็นการเขียนข่าวที่เริ่มด้วยประเด็นสำคัญของเรื่องและส่วนเชื่อมที่โยงความสัมพันธ์ระหว่างความนำกับเนื้อหา ที่มีความสำคัญรองลงมา เนื้อหาก็จะบอกในรายละเอียดเรื่องราวมทั้งหมด
2. แบบปิระมิดหัวตั้ง การนำเสนอข่าวดดยการลำดับประเด็นสำคัญจากน้อยไปหามาก เพื่อให้ผู้อ่านติดตามอ่านจนจบ แล้วค่อยๆเพิ่มประเด็นสำคัญจนถึงประเด็นที่สำคัญที่สุด แต่ในปัจจุบัน รูปแบบนี้ไม่เป็นที่นิยม
3. แบบสี่เหลี่ยมผืนผ้าทรงยืนแบบผสม ใช้เขียนข่าวที่ไม่ค่อยสำคัญ มักเป็นข่าวสั้นๆ มักจะเขียนแบบเสนอข้อเท็จจริง

                ขั้นตอนในการเขียนข่าว
1. เราจะต้องศึกษา หาข้อมูล รวบรวมข้อมูลให้ได้มากที่สุด
2. ต้องมีการร่างเนื้อหาคร่าวๆ กำหนดหัวข้อที่จะเขียน เลือกประเด็นหลักๆมาใช้ในการเขียน
3. เขียนข่าวโดยใช้รูปแบบการเขียนข่าวต่างๆที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น
4. จัดรูปแบบ ตรวจทานการเขียนหลายๆรอบ โดยเฉพาะเรื่องของการใช้ภาษาในการเขียน ควรสะกดให้ถูกต้อง
5. อ่านทบทวนอีกครั้งหรือให้ผู้อื่นช่วยอ่าน เพื่อให้ได้มาซึ่งข่าวที่สมบูรณ์ ครบถ้วน

* การใช้ภาษาเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เมื่อทำการเขียนข่าว เราควรระมัดระวังการใช้ภาษาของเราให้ดีนะค่ะ เพราะคำพูดเพียงบางคำที่มีได้หลายแง่ของความหมาย อาจจะทำให้ข่าวนั้นบิดเบือนไปจากความจริงหรือทำให้ผู้อ่านเข้าใจความหมายผิดได้ค่ะ

                เทคนิคการเขียนข่าวเล็กๆน้อยๆ
1. หากข่าวนั้นไม่ใช่ประเด็นใหญ่ๆที่ประชาชนกำลังให้ความสนใจ ก็คงจะไม่มีคนเลือกหยิบข่าวนั้นขึ้นมาอ่าน ดังนั้นเราจะต้องหาข่าวที่อยู่ในความสนใจของประชาชนหยิบขึ้นมาเขียน เช่น ข่าวน้ำท่วมที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้ ก็จะทำให้ประชานชนสนใจได้ไม่ยาก
2. ความสด ใหม่ ของข่าว จำเป็นมาก เพราะหากข่าวที่ถูกเขียนผ่านมาหลายวันแล้วก็คงจะไม่มีใครสนใจอีกเช่นกัน
3. หัวข้อของข่าว ก็ช่วยดึงดูดความสนใจของผู้อ่านได้มาก หัวข้อข่าวจึงต้อง ตรงประเด็น สั้น อ่านแล้วเข้าใจทันทีว่ารายละเอียดของข่าวเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอะไร

                เทคนิคยังมีอีกมากมาย หากมีเทคนิคหรือเรื่องราวดีๆอื่นๆอีก ก็จะมาเขียนให้ผู้อ่านได้อ่านกันอีกนะค่ะ